รฟท.แจงทุกข้อสงสัย เทียบราคาป้ายสถานี “บางซื่อ” เดิม 70 ตัว 12 ล้าน เฉลี่ยอักษรละ 1.7 แสนบาท ใกล้เคียงกับป้ายใหม่

รฟท.แจงทุกข้อสงสัย

รฟท.แจงทุกข้อสงสัย เทียบราคาป้ายสถานี “บางซื่อ” เดิม 70 ตัว 12 ล้าน เฉลี่ยอักษรละ 1.7 แสนบาท ใกล้เคียงกับป้ายใหม่

รฟท.แจงทุกประเด็นสงสัยป้าย 33 ล้านบาท ยันร่าง TOR และราคากลางตามขั้นตอนยึดระเบียบพัสดุ จ้างผู้รับเหมาเดิม เหตุลดความเสี่ยงกรณีเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างและการให้บริการ เทียบป้ายเก่าปี 63 ป้ายใหม่ปี 65 ราคาเฉลี่ยใกล้เคียงอักษรละ 1.7 แสนบาท

รฟท.แจงทุกข้อสงสัย

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า จากที่มีประเด็นข้อสงสัยของสังคมกรณีการรถไฟฯ ที่ได้ดำเนินการเปลี่ยนป้าย “สถานีกลางบางซื่อ” เป็น “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ที่มีการลงนามจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง โดยใช้งบประมาณ 33 ล้านบาทนั้น ที่ผ่านมายังมีผู้ที่แสดงความคิดเห็น และให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงในหลายประเด็น การรถไฟฯ จึงขอสรุปประเด็นข้อสงสัยเพิ่มเติม และให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ดังนี้

1. ประเด็น ที่มาของโครงการเป็นอย่างไร ภารกิจที่ได้รับมอบหมาย เริ่มจาก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2565 การรถไฟฯ ได้รับแจ้งจากกระทรวงคมนาคม ให้ทราบถึงการปรับเปลี่ยนชื่อเส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดง และปรับเปลี่ยนชื่อสถานีกลางบางซื่อ ประกอบด้วย

– เส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ชื่อว่า “นครวิถี”
– เส้นทางรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) ชื่อว่า “ธานีรัถยา”
– สถานีกลางบางซื่อ ชื่อว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” Krung Thep Aphiwat Central Terminal

ต่อมากระทรวงคมนาคมมีหนังสือวันที่ 5 ตุลาคม 2565 และวันที่ 6 ธันวาคม 2565 แจ้งให้การรถไฟฯ เร่งรัดการดำเนินการติดตั้งชื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยยึดปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด การรถไฟฯ จึงได้ดำเนินการโดยให้เป็นไปตามกฎหมายตามภารกิจที่ได้รับโดยเคร่งครัด

2. ประเด็นการรถไฟฯ ดำเนินการจัดทำ TOR ถูกต้องตามขั้นตอนปกติและเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่

หลังจากได้รับแจ้งจากกระทรวงคมนาคม ในวันที่ 5 ตุลาคม 2565 การรถไฟฯ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตของงานและกำหนดราคากลาง โครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) ราคากลาง และร่างเอกสารที่เกี่ยวข้องเป็นไปตามที่ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

โดยคณะกรรมการฯ ได้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ตั้งแต่ช่วงวันที่ 5 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ในการดำเนินการจัดทำรายงานผลราคากลาง และดำเนินการเพื่อขออนุมัติ ทั้งนี้ การดำเนินการเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 9 และตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 21

ดังนั้น จึงขอยืนยันว่าการรถไฟฯ มีการดำเนินการในขั้นตอนการจัดทำร่างขอบเขตของงาน (TOR) อย่างถูกต้องเคร่งครัดครบถ้วนทุกประการแล้ว

3. ประเด็นขอบเขตของงานครอบคลุม ครบถ้วน และได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบด้านในทุกมิติแล้วหรือไม่

คณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตงานและราคากลางได้กำหนดขอบเขตงานที่หลากหลาย ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่การเปลี่ยนป้ายชื่อเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการจัดทำระบบไฟ งานรื้อถอน ที่มีความละเอียดอ่อนและต้องปรับปรุงอย่างระมัดระวัง รวมถึงมีการรับประกันความชำรุดบกพร่อง เพื่อให้โครงการเกิดความรอบคอบ เสร็จสิ้นเรียบร้อยตามกำหนด

เนื่องจากป้ายเดิม “สถานีกลางบางซื่อ” ถือเป็นป้ายขนาดใหญ่ ขณะที่ป้ายชื่อ “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” มีความยาวของชื่อ และจำนวนตัวอักษรเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกทั้งป้ายอักษรติดตั้งใหม่บนโครงสร้างอาคารสถานีจะต้องมีโครงเหล็กยึดตัวอักษรไว้ที่ด้านหลัง และมีความยากในการเจาะช่องทะลุผนังกระจกนิรภัย (Tempered Glass) ที่หนากว่า 10 มิลลิเมตร เพื่อยึดตัวอักษรแต่ละตัว จึงจำเป็นต้องรื้อถอนผนังกระจกเดิม และติดตั้งผนังกระจกใหม่ที่มีช่องรองรับกับโครงสร้าง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องอาศัยความชำนาญเป็นพิเศษ

อ่านข่าวออกแบบที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : GIGABYTE ย้ำจุดยืนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้