เงินฝากปลอดภาษี ออมสินให้เลือกฝากสั้น/ยาวก็คุ้ม ถึงสิ้น ม.ค.นี้เท่านั้น

เงินฝากปลอดภาษี

เงินฝากปลอดภาษี ออมสินให้เลือกฝากสั้น/ยาวก็คุ้ม ถึงสิ้น ม.ค.นี้เท่านั้น

ธนาคารออมสิน เปิดรับเงินฝากปลอดภาษี 2 โปรดักต์ ฝากสั้น “เผื่อเรียกพิเศษ 9 เดือน” ฝากยาว “เผื่อเรียกพิเศษ 15 เดือน” แจงคุ้มทั้งคู่-ดอกเบี้ยดี ฝากได้ถึงสิ้นเดือน ม.ค.นี้เท่านั้น

เงินฝากปลอดภาษี

วันที่ 14 มกราคม 2565 ธนาคารออมสิน เปิดรับเงินฝาก 2 โปรดักต์ ที่ให้อัตราดอกเบี้ยสูง ไม่ว่าจะฝากสั้น หรือฝากยาว ที่สำคัญบุคคลธรรมดาไม่เสียภาษี โดยเงินฝากตัวสั้น ได้แก่ “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 9 เดือน” ที่ให้อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.90% ต่อปี

เงื่อนไขการฝาก ต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำ 10,000 บาท ฝากเพิ่มครั้งละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลทุกประเภท ไม่จำกัดวงเงินรับฝากต่อราย เมื่อฝากครบ 9 เดือนนับตั้งแต่วันที่ฝาก ธนาคารจะโอนยอดเงินฝากและดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากประเภทเผื่อเรียกที่เป็นบัญชีคู่โอนที่ผู้ฝากแจ้งไว้

ด้านการถอน สามารถถอนครั้งละเท่าใดก็ได้ และ ถอนหรือปิดบัญชีก่อนฝากครบ 9 เดือนนับตั้งแต่วันที่ฝาก จำนวนเงินที่ถอนจะได้รับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประเภทเผื่อเรียก ณ วันที่ถอน

ส่วนเงินฝากตัวยาว ได้แก่ “เงินฝากเผื่อเรียกพิเศษ 15 เดือน” ที่ให้ดอกเบี้ยเป็นขั้นบันได เดือนที่ 1 – 6 ร้อยละ 0.75 ต่อปี, เดือนที่ 7 – 12 ร้อยละ 1.00 ต่อปี, เดือนที่ 13 – 14 ร้อยละ 1.65 ต่อปี และ เดือนที่ 15 ร้อยละ 4.99 ต่อปี

ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 1.25 ต่อปี (เทียบเท่าเงินฝากประจำร้อยละ 1.47 ต่อปี)

สำหรับเงื่อนไขการฝาก ต้องเปิดบัญชีขั้นต่ำ 10,000 บาท สามารถฝากเพิ่มครั้งละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท บุคคลธรรมดา และนิติบุคคลทุกประเภท ไม่จำกัดวงเงินรับฝากต่อราย ซึ่งเมื่อฝากครบ 15 เดือนนับตั้งแต่วันที่ฝาก ธนาคารจะโอนยอดเงินฝากและดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากประเภทเผื่อเรียกที่เป็นบัญชีคู่โอนที่ผู้ฝากแจ้งไว้

จุดเด่นของเงินฝากทั้ง 2 ประเภทนี้ ได้แก่ เหมาะสำหรับการเก็บเงินไว้ใช้จ่ายทั่วไป, ฝากเพิ่มได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท, คำนวณดอกเบี้ยเป็นรายวันจากยอดเงินฝาก และ ถอนเงินเท่าใดก็ได้

นอกจากนี้ ทั้ง 2 โปรดักต์ ผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดาไม่ต้องเสียภาษี โดยเปิดรับฝากถึงสิ้นเดือน ม.ค.2566 นี้เท่านั้น

อ่านข่าวการเงินที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ชีวิตนี้วางแผนได้! ด้วยการลงทุนเพื่อสุขภาพลดภาระด้านการเงินอย่างยั่งยืน